เกี่ยวกับเรา

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

การกำกับและติดตามการปฏิบัติ

  1. สอบทานให้บริษัทฯ มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเปิดเผยอย่างเพียงพอ 
  2. สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน รวมถึงพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง และประเมินผลงานหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน ตลอดจนกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและกำหนดแผนการตรวจสอบภายในของหน่วยงานตรวจสอบภายใน 
  3. สอบทานให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และกำกับดูแลหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทฯ (Compliance) 
  4. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง บุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี รวมถึงการเลิกจ้างผู้สอบบัญชี ตลอดจนร่วมวางแนวทางการปฏิบัติงานกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 
  5. พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ ในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ/หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าว สมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ 
  6. พิจารณารายการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อนำเสนอที่ประชุมกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา
  7. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    (7.1) ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
    (7.2) ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    (7.3) ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ
    (7.4) ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    (7.5) ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    (7.6) จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    (7.7) ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (charter)
    (7.8) รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  8. ปฏิบัติการอื่นใด ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ

การดำเนินการด้านบรรษัทภิบาล

  1. หากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่เห็นสมควร
    (1.1) ผลประโยชน์ทับซ้อน
    (1.2) กรณีทุจริตหรือข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการทุจริต หรือบกพร่องที่สำคัญในระบบควบคุมภายใน
    (1.3) การฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหากคณะกรรมการหรือผู้บริหารไม่ดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลา ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องเปิดเผยการกระทำดังกล่าวไว้ในรายงานประจำปี และรายงานต่อ ก.ล.ต. หรือ ตลท.
  2. สอบทานนโยบายและมาตรการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดจนมีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการ และสนับสนุนให้มีกระบวนการส่งเสริม ปลูกฝังทุกคนในองค์กรให้ตระหนักและพึงปฏิบัติ 
  3. สอบทานการปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมถึงแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณที่ดีทางธุรกิจ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบและพิจารณาอนุมัติ และรายงานการกำกับดูแลกิจการ โดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
  4. สอบทานการดำเนินงานของบริษัทฯ ถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย ของ ก.ล.ต. ตลท. และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ